ยาหอมนวโกฐ

1847 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ยาหอมนวโกฐ

ยาหอม มรดกทางภูมิปัญญาที่อยู่คู่ประเทศไทยมาอย่างยาวนาน เป็นจุดเด่น และอัตลักษณ์ทางด้านภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทย ในคัมภีร์แพทย์แผนไทยได้บันทึกถึงตำรับยาหอมไว้ว่ามีมากกว่า 300 ตำรับ ถือเป็นตำรับยาสำคัญในการแพทย์แผนไทย หมอไทยสมัยก่อนจะพกยาหอมติดตัวไว้เพื่อใช้รักษาอาการของผู้ป่วยในยามฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดท้อง วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด หรือเป็นลมหมดสติ ยาหอมจะเป็นยาชนิดแรกที่เลือกใช้ก่อนจะรักษาด้วยตำรับยาอื่น ๆ เนื่องด้วยยาหอมมีส่วนประกอบของตัวยาที่เป็นสมุนไพรกลิ่นหอมหลายชนิด จะช่วยปรับสมดุลร่างกายได้ดี เมื่อใช้ถูกกับอาการที่เป็น ก็จะสามารถรักษาโรคได้อย่างรวดเร็วและตรงจุด


คนทั่วไปมักมีความเข้าใจว่า ยาหอมมีฤทธิ์ช่วยในเรื่องแก้อาการวิงเวียน เหมาะสำหรับผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ความจริงแล้ว วัยรุ่นหรือวัยทำงาน ก็สามารถใช้ยาหอมบรรเทาอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ได้ดีเช่นกัน เพราะหน้าที่ของสารออกฤทธิ์ต่าง ๆ ในยาหอมโดยแท้จริงแล้วก็คือการปรับสมดุลธาตุในร่างกายให้ทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ติดขัด หากเลือกใช้ให้เหมาะสม ยาหอมก็นับว่าเป็นยาที่มากสรรพคุณตัวหนึ่ง
ในปี พ.ศ. 2542 กระทรวงสาธารณสุขได้มีประกาศบัญชียาแผนโบราณสามัญประจำบ้าน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อการกระจายยายาสมุนไพร ให้ประชาชนเข้าถึงยาสมุนไพรที่ดีและปลอดภัยได้ง่ายขึ้น โดยยาประเภทนี้สามารถวางขายในสถานที่ใดก็ได้ ไม่ต้องเป็นสถานที่ที่ได้รับอนุญาตขายยา หรือสถานการแพทย์ จนกระทั่งปี พ.ศ 2554 “ยาหอมนวโกฐ” ก็ได้รับการจัดให้เป็นหนึ่งในตำรับยายาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ เนื่องจากมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์รับรองแล้วว่า ยาหอมนวโกฐเป็นยาสมุนไพรที่มีผลต่อระบบหัวใจ หลอดเลือด ระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาทส่วนกลาง และมีคุณสมบัติเป็นยาครอบไข้ โดยมีกลไกคือช่วยบำรุงและฟื้นฟูระบบการทำงานของร่างกาย ป้องกันไม่ให้เชื้อเข้าสู่ปอดและอวัยวะภายใน ช่วยเพิ่มภูมิต้านทาน กระตุ้นการทำงานของระบบเผาผลาญ และขับของเสียที่ตกค้างในร่างกาย โดยไม่มีความเป็นพิษแบบเฉียบพลัน คนทั่วไปสามารถนำยาหอมนวโกฐมาใช้รักษาอาการต่าง ๆ ด้วยตนเองได้อย่างปลอดภัย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ยาหอมนวโกฐจึงมีใช้กันอย่างแพร่หลาย


ตำรับยาหอมนวโกฐ ประกอบด้วยเครื่องยา 55 ชนิด เป็นพืชวัตถุ 54 ชนิด ได้แก่ โกฐสอ โกฐเขมา โกฐหัวบัว โกฐเชียง โกฐจุฬาลัมพา โกฐกระดูก โกฐก้านพร้าว โกฐพุงปลา โกศชฎามังสี เทียนดำ เทียนแดง เทียนขาว เทียนข้าวเปลือก เทียนตาตั๊กแตน เทียนเยาวพาณี เทียนสัตตบุษย์ เทียนเกล็ดหอย เทียนตากบ เปลือกสมุลแว้ง หญ้าตีนนก รากแฝกหอม เปลือกชะลูด หัวเปราะหอม กระลำพัก ขอนดอก เนื้อไม้กฤษณา เหง้าขิงแห้ง ดอกดีปลี รากเจตมูลเพลิงแดง เถาสะค้าน รากช้าพลู หัวแห้วหมู ลูกกระวาน ดอกกานพลู ดอกจันทน์ ลูกจันทน์ เปลือกอบเชยญวน ลูกผักชีลา แก่นสน แก่นสักขี ลูกราชดัด ลูกสารพัดพิษ แก่นจันทน์เทศ แก่นจันทน์แดง ลูกกระดอม เถาบอระเพ็ด เกสรบัวหลวง ดอกบุนนาค ดอกพิกุล ดอกสารภี ดอกมะลิ เนื้อลูกมะขามป้อม เนื้อลูกสมอพิเภก รากชะเอมเทศ และธาตุวัตถุอีก 1 ชนิด คือ พิมเสน


กรรมวิธีการผลิตเริ่มตั้งแต่นำตัวยาสมุนไพรมาชั่งน้ำน้ำหนักตามสูตรยา นำสมุนไพรทุกชนิด ยกเว้นพิมเสน ไปล้างทำความสะอาด ผึ่งลมให้แห้ง แล้วนำมาอบแห้งที่อุณหภูมิ 40-45 องศาเซลเซียส จนกว่าจะแห้งสนิท เพื่อไล่ความชื้นและป้องกันเชื้อรา จากนั้นจึงนำพิมเสนและตัวยาทั้งหมดมาบดรวมกันจนได้เป็นผงยา นำผงยาไปผ่านเครื่องร่อน แล้วนำไปบรรจุใส่ขวดหรือแคปซูล ถือเป็นตำรับยาสมุนไพรตัวหนึ่งที่มีกระบวนการผลิตหลายขั้นตอน และต้องใช้ตัวยาหลายชนิด


โดยทั่วไปยาหอมนวโกฐชนิดผง แนะนำให้รับประทานครั้งละ 1 - 2 กรัม ละลายน้ำอุ่น ดื่มเมื่อมีอาการ ทุก 3 - 4 ชั่วโมง แต่ไม่ควรดื่มเกินวันละ 3 ครั้ง ส่วนยาหอมนวโกฐชนิดเม็ด แนะนำให้รับประทานครั้งละ 5-10 เม็ด เมื่อมีอาการ วันละไม่เกิน 3 ครั้ง แต่เนื่องจากการผลิตของแต่ผู้ประกอบการแต่ละรายจะไม่เหมือนกัน จึงควรอ่านฉลากอย่างละเอียดก่อนรับประทาน


ยาหอมนวโกฐเป็นยาสมุนไพรที่มีฤทธิ์รสร้อน มีสรรพคุณช่วยขับลมในระบบทางเดินอาหาร ช่วยปรับสมดุลร่างกายให้ฟื้นตัวจากอาการไข้ หรือที่เรียกว่า “แก้ลมปลายไข้” (แก้อาการที่ยังคงมีหลังจากฟื้นไข้ เช่น คลื่นเหียน วิงเวียน เบื่ออาหาร ท้องอืด ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย) ป้องกันอาการไข้ไม่ให้รุนแรงไปมากกว่าเดิม หากมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว ตัวรุม ๆ หรืออ่อนเพลียคล้ายจะเป็นไข้  ให้ใช้ยาหอมนวโกฐผสมกับน้ำร้อน ดื่มตอนอุ่น ๆ แล้วนอนพัก จะช่วยให้อาการไข้ต่าง ๆ หายไปหรือทุเลาลง ร่างกายจะสดชื่น กระปรี้กระเปร่าขึ้น สามารถใช้เป็นยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต แก้ลมวิงเวียน แก้คลื่นเหียนอาเจียนได้เป็นอย่างดี แต่มีข้อควรระวังในการใช้ยาหอมนวโกฐในผู้ป่วยที่แพ้ละอองเกสรดอกไม้ เนื่องจากอาจมีเกสรดอกไม้ปะปนมากับพืชสมุนไพร การใช้ในหญิงมีครรภ์ ไม่ควรใช้ติดต่อกันเกิน 5 วัน และควรระวังการรับประทานร่วมกับยาในกลุ่มสารกันเลือดเป็นลิ่ม (anticoagulant) และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (antiplatelets)


ยาหอมนวโกฐ เป็นมรดกทางภูมิปัญญาของประเทศไทย ที่มีการใช้กันอย่างยาวนานตั้งแต่ในอดีต มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ช่วยยืนยันและพิสูจน์สรรพคุณต่าง ๆ มาแล้วมากมาย ช่วยสร้างความมั่นใจในการใช้ และเป็นการต่อยอดภูมิปัญญาของประเทศชาติ ไม่ให้ล้าหลังไปตามกาลเวลา

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้